“งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” หรือ “KMUTNB Innovation Awards” ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มีความสนใจงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แสดงความรู้ความสามารถในการวิจัย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่นำมาซึ่งความเข้มแข็งและความเจริญของประเทศไทยอย่างยั่งยืน แสดงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มจพ. คือมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม” โดยแต่เดิมใช้ชื่อว่า “การประกวดรางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยี” (ปี พ.ศ. 2552 - 2556) และ “งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ” (ปี พ.ศ. 2557 - 2561) โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ในปี พ.ศ. 2562 และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา “งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมประกวดจากภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประกวดแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของประเทศได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม และพัฒนาความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรมเพี่อความได้เปรียบในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมถึงสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนการบ่มเพาะและเร่งการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Innovative startup) สนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และสังคมฐานความรู้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล Grand Prize สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวด มาอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในปี 2566 การจัดงานบรรลุวัตถุประสงค์โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 400 ผลงาน และมีผู้สนใจเข้าชมผลงาน ผ่านระบบเสมือนจริง (Virtual Exhibition) กว่า 100,000 ครั้ง
กิจกรรม | วัน/เวลา |
เปิดรับสมัครผลงาน | 12 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2567 (16.00 น.) |
ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือก | 1 พฤษภาคม 2567 |
ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือกส่ง VDO และ Poster | 1 - 17 พฤษภาคม 2567 |
จัดแสดงและประกวดรอบ Virtual Exhibition | 23 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป |
ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสิน | 12 มิถุนายน 2567 |
นำเสนอผลงานรอบตัดสินและมอบรางวัล | 5 กรกฎาคม 2567 |
รูปแบบการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงานจะพิจารณาตามประเภทการประกวดและประเภทของผลงานที่ผู้เข้าประกวดเลือกไว้ในใบสมัครเป็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
คัดเลือกผลงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจากผลงานที่สมัครเข้าร่วมประกวดและตรงตามคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้จัดงาน โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาจากรายละเอียดผลงานและคลิป VDO นำเสนอผลงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งคลิป VDO ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือกจะได้จัดแสดงในรอบประกวด Virtual Exhibition ซึ่งจะจัดกลุ่มผลงานตามประเภทการประกวดและประเภทของผลงานที่ผู้เข้าประกวดเลือกตามลำดับ
คณะกรรมการฯ พิจารณารายละเอียดผลงาน คลิป VDO นำเสนอผลงาน และ Poster ที่จัดแสดงในการประกวดรูปแบบ Virtual Exhibition ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของการประกวดแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกผลงานที่เหมาะสม จำนวน 6 ผลงาน ต่อประเภทรางวัล (รวม 12 ผลงาน) เข้าสู่รอบตัดสิน
ผู้เข้ารอบตัดสินจะต้องจัดแสดงผลงาน และนำเสนอผลงาน (Pitching) ต่อคณะกรรมการ ตามวัน เวลา และสถานที่จัดงานตามที่ผู้จัดงานกำหนด โดยจัดเตรียมผลงานและสื่อประกอบได้ตามความเหมาะสม ระยะเวลาการนำเสนอ ไม่เกิน 5 นาที และถาม-ตอบคณะกรรมการ ไม่เกิน 5 นาที รวมไม่เกิน 10 นาที ทั้งนี้ ผู้นำเสนอผลงานจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อในฐานะผู้ประดิษฐ์ ที่ระบุไว้ในใบสมัครเข้าร่วมประกวดเท่านั้น
นำเสนอผลงานรอบตัดสิน และ พิธีมอบรางวัล กำหนดจัดขึ้น ในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 ณ ห้อง Cloud9 ชั้น 9 อาคารสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยผู้จัดงานจะจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน ให้กับ 12 ผลงาน และเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานและการประกวดได้ โดยรายละเอียดจะประกาศให้ทราบต่อไป
หลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน |
1. ความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ หมายถึง ผลงานนั้นไม่เคยใช้ที่ไหนมาก่อนหรือในกลุ่มคนนั้นไม่เคยใช้ โดยเกิดจากการคิดใหม่ สร้างสรรค์ใหม่ ที่มาจากการนำของที่มีอยู่มาใช้ การนำเทคโนโลยีหรือแนวคิดมาผสมผสานร่วมกัน การนำหลักการพิจารณาที่ซับซ้อนจนได้ผลดี และการนำสิ่งที่ ไม่คาดคิดมาก่อน นำมาใช้คิด ใช้สร้าง จนสามารถสร้างความประหลาดใจ |
2. ความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ หมายถึง ผลงานนั้นสามารถอธิบายการทำงานให้สอดคล้องกับทฤษฎี โดยเป็นทฤษฎีทั้งในระดับพื้นฐาน การนำไปใช้ การวิเคราะห์ตัวแปรหลายตัวด้วยระดับความยาก ในการทำความเข้าใจ การต้องค้นหาข้อมูล และความยากที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยง่าย |
3. ความสามารถในการผลิตได้จริง หมายถึง มีแนวทางหรือมีการนำผลงานไปสร้างเป็นต้นแบบ หรือสามารถนำผลงานนั้นไปผลิตจนสามารถใช้งานได้จริง เห็นผลลัพท์ที่ได้จากผลงานนั้นๆในรูปธรรม |
4. การนำไปพัฒนาต่อยอดและการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หมายถึง การนำผลงานไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายจนทำให้เกิดความพึงพอใจ ได้รับคำแนะนำจากผู้ใช้ ได้ข้อมูลในการนำไปพัฒนาจนถึงขั้นตอนการทำสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดราคาต้นทุน กำหนดราคาขาย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในการนำไปใช้งาน หรือมีความสามารถในการผลิตเป็นจำนวนมาก |
5. รูปแบบการนำเสนอผลงานที่สมบูรณ์และน่าสนใจ หมายถึง การนำเสนอผลงานของตนเองให้มีความโดดเด่น สร้างความน่าสนใจ และเข้าใจได้ง่าย หรือสามารถตอบคำถามได้ดีในเวลาที่กำหนด ตลอดรวมถึงความเรียบร้อยสมบูรณ์ของเอกสารนำส่งและผลงานต้นแบบ |
6. ความเป็นไปได้ของการจดสิทธิบัตร หมายถึง ผลงานนั้นสามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ตามหลักเกณฑ์ และมีประเด็นสำคัญที่ครบถ้วน |
กรุณาหมุนหน้าจอ
(ต้องเปิดฟังก์ชันหมุนหน้าจออัตโนมัติบนอุปกรณ์)
เว็บไซต์นี้ ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น
เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่